โรคจากการทำงาน หมายถึง โรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน
โดยมีสาเหตุหลัก
มาจากการสัมผัสสิ่งคุกคาม หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม
ลักษณะท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง
การทำงานที่ใช้แรงงานหนักเกินความสามารถของร่างกาย
โดยที่อาการของการเจ็บป่วยนั้นอาจเกิดขึ้นขณะปฏิบัติงานหรือเมื่อได้ทำงานนั้นมาเป็น
ระยะเวลาที่ก่อให้เกิดโรคได้ หรือลาออกจากงานแล้ว
โรคเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน
หมายถึง โรคที่มีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่าง
ประกอบกัน ไม่ได้เกิดจากการทำงานโดยตรง แต่การ ทำงาน ทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้น
การระบาดของโรค หมายถึง การเกิดโรคขึ้นในกลุ่มพนักงาน หรือในแผนกมากกว่าภาวะปกติของกลุ่มพนักงานทั่วไป
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคจากการทำงานและการระบาดประกอบด้วย
1. ตัวผู้ปฏิบัติงาน เช่น เพศ, อายุ, เชื้อชาติ, อาหาร, พฤติกรรม, การศึกษา, การกระทำ, บุคลิกภาพ, โรคประจำตัว, ระยะเวลาทำงาน, ความไวต่อการเกิดโรค, ความอ่อนเพลีย เป็นต้น
2. สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและ/หรือโรค ประกอบด้วย ปัจจัยทางกายภาพ, ปัจจัยทางเคมี, ปัจจัยทางชีวภาพ, ปัจจัยเกี่ยวกับลักษณะงาน และท่าทางการทำงาน
3. สภาพพื้นที่ทำงาน เป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นและส่งเสริมทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่จะทำให้โรคเกิดเร็วขึ้นหรือลดความรุนแรงลง เช่น ความสะอาดเรียบร้อย, การระบายอากาศ เป็นต้น
ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 หากมีความสมดุลย์กัน จะไม่ก่อให้เกิดโรคกับพนักงานและการระบาดของโรคได้ ยกเว้น
1) คนที่มีความเหน็ดเหนื่อย อ่อนแอ ความต้านทานของร่างกายลดลง เนื่องจากการทำงานหนัก พักผ่อนน้อย หรือสูงอายุ เป็นต้น
2) สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและ/หรือโรคมีปริมาณสูง ทำให้คนมีโอกาสได้รับสิ่งก่อโรคปริมาณสูง
3) สภาพพื้นที่การทำงาน มีการระบายอากาศที่ไม่ดี สถานที่ทำงานรกรุงรัง กลายเป็นแหล่งสะสมของสิ่งคุกคามที่ทำให้เกิดโรค